พลาสติกชีวภาพ 2
ตุลาคม 9, 2011 in ความรู้เรื่องพลาสติก
พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) แบ่งได้ 2 ประเภท
– ประเภทสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable)
– ประเภทสลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ (Non-Compostable)
พลาสติกชีวภาพชนิดสลายตัวได้ทางชีวภาพ เป็นพลาสติกที่สลายตัวได้ด้วยจุลินทรีย์ ตามหลักการจะต้องเป็นพลาสติกที่สังเคราะห์ขึ้นจากพืช (Biobase) แต่ปัจจุบันบางชนิดยังมีความจำเป็นต้องผลิตจากปิโตรเลียม (Petrobase) ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะพัฒนาเปลี่ยนเป็นการผลิตจากพืชทั้งหมด ทั้งนี้โดยสาระสำคัญจะต้องมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) ให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก (Compost) กลับคืนสู่ดิน และจะต้องพิสูจน์ได้ว่าปุ๋ยหมักที่ได้ เมื่อนำไปปลูกพืชแล้วจะเจริญเติบโตทัดเทียมกับพืชที่ปลูกโดยปุ๋ยธรรมชาติทั่วไป
พลาสติกชีวภาพชนิดสลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ เป็นพลาสติกที่สังเคราะห์ขึ้นจากพืชเท่านั้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติเหมือนพลาสติกธรรมดาทั่วไป (Conventional Plastics) ที่ได้จากปิโตรเลียมทุกประการ แต่สลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ (Non-Compostable) คือไม่สลายได้ด้วยจุลินทรีย์ พลาสติกประเภทนี้ถือเป็นแหล่งวัสดุทดแทนพลาสติกธรรมดาทั่วไป อย่างไม่มีการสิ้นสุด (Renewable) ที่มาจากแหล่งน้ำมัน ซึ่งเมื่อหมดแล้วต้องรออีกเป็นเวลาหลายพันปี
พลาสติกแตกสลายตัวได้ เป็นพลาสติกธรรมดาทั่วไปที่ทำจากปิโตรเลียมไม่ใช่พลาสติกชีวภาพ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตบางรายเรียกพลาสติกนี้ว่า Biodegradable Plastics หรือ พลาสติกแตกสลายทางชีวภาพ ซึ่งในศัพท์แปลของราชบัณฑิตยสถาน คำว่า
Biodegradable คือแตกสลายทางชีวภาพ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการแตกสลายตัวด้วยความร้อน และแสงแดด หรือ Oxodegradable โดยมีความพยายามทำให้ผู้ใช้เข้าใจว่าเป็นพลาสติกชีวภาพ พลาสติกนี้ทำจากปิโตรเลียมผสมกับสารเติมแต่ง (additive) ที่ทำให้เนื้อพลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนอาจเล็กพอที่จุลินทรีย์สามารถกินเข้าไปได้ จึงเรียกกันเองในหมู่ผู้ผลิตพลาสติกนี้ว่า มีการแตกสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradable) แต่ในทางวิชาการยังมีข้อสงสัยว่า หากจุลินทรีย์กินเศษผงพลาสติกเล็ก ๆ ที่แตกแล้วนี้เข้าไปในร่างกายแล้ว ก็จะทำให้มีการนำพาเศษผงเล็ก ๆ นี้เข้าสู่ร่างกายสัตว์ หรือมนุษย์ ซึ่งมีผลให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บตามมา เพราะเศษผงเล็ก ๆ นี้ยังเป็นเศษชิ้นส่วนของพลาสติกอยู่ ซึ่งมีอายุยาวนานกว่ามนุษย์ ดังนั้นในต่างประเทศจึงเคร่งครัดกับวิธีการนี้มาก คือจะต้องฝังกลบและปิดมิดชิดพลาสติกประเภทนี้ให้อยู่ใต้ดินเท่านั้น โดยไม่ให้มีการเล็ดลอดออกมาสู่มนุษย์อย่างเด็ดขาด
* ทำไมสนใจเรื่องพลาสติกชีวภาพ
พลาสติกชีวภาพทั้งประเภทสลายตัวได้ และสลายตัวไม่ได้ ต่างก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างมหาศาล ดังนี้
พลาสติกชีวภาพชนิดสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics)
– คุณสมบัติพิเศษของพลาสติกชนิดนี้ สามารถสลายตัวได้คืนสู่ดินเป็นปุ๋ยหมัก ทดแทนปุ๋ยเคมีที่ปัจจุบันนำเข้าปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี และยังเหมาะกับงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร โดยสลายตัวพร้อม ๆ กันไปกับเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ แทน การใช้พลาสติกธรรมดาทั่วไป ซึ่งเมื่อเปรอะเปื้อนอาหารต้องนำไปเผาอย่างเดียว โดยไม่คุ้มค่าที่จะนำไป Recycle เพราะสกปรกเปื้อนไขมัน จึงจำต้องทำลายด้วยการเผาทำให้เกิดก๊าซพิษในบรรยากาศ และก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG (Green House Gas) ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและเพิ่มภาวะโลกร้อน
– มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำพลาสติกชีวภาพชนิดสลายตัวได้ มาใช้บรรจุอาหาร หรือขยะอินทรีย์ เพื่อพลาสติกนี้จะถูกย่อยสลายแบบสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) พร้อม ๆ กับเศษอาหารและขยะอินทรีย์ จนกลายเป็นปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อปุ๋ยเคมี
พลาสติกชีวภาพชนิดสลายตัวไม่ได้ทางชีวภาพ
– ในอนาคตอันใกล้จะมีพลาสติกชีวภาพที่มีโครงสร้างเหมือนพลาสติกธรรมดาทั่วไปที่ทำจากปิโตรเลียม แต่จะทำจากมันสำปะหลัง เช่น polyethylene,(PE) เนื่องจากในการผลิตใช้พลังงานน้อยกว่าพลาสติกตัวเดียวกับที่ทำจากปิโตรเลียม จึงถือว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในจำนวนที่น้อยกว่า ซึ่งจะได้ค่า Carbon Credit มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประมาณ 2.5 ตันต่อเม็ดพลาสติกชีวภาพทุก ๆ 1 ตัน และ แทนการส่งออกในรูปแป้งมัน ซึ่งเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจะสร้างมูลค่าเพิ่มเกือบ 20 เท่าจากเดิม